Jun 23, 2011

Indian Gooseberry

มะขามป้อม (Indian Gooseberry) เป็นต้นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae เป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง และมีคุณค่าทางสมุนไพรด้วย มะขามป้อมเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสระแก้ว มีชื่อพื้นเมืองอื่นอีกคือ กันโตด (เขมร - กาญจนบุรี) กำทวด (ราชบุรี) มะขามป้อม (ทั่วไป) มั่งลู่, สันยาส่า (กะเหรี่ยง - แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์: เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก-กลาง สูง 8-12 เมตร ลำต้นมักคดงอ เปลือกนอกสีน้ำตาลอมเทา ผิวเรียบหรือค่อนข้างเรียบ เปลือกในสีชมพูสด ใบเดี่ยว มีลักษณะคล้ายใบประกอบ มีใบย่อยออกเรียงกันเป็น 2 แถว คล้ายใบมะขาม ปลายใบแหลมยาวรี รูปขอบขนานติดเรียงสลับ กว้าง 0.25-0.5 ซม.ยาว 0.8-12 ซม. มีสีเขียวอ่อนเรียงชิดกัน ใบสั้นมาก เส้นแขนงใบไม่ชัดเจน
ดอกขนาดเล็กแยกเพศ แต่อยู่บนกิ่งหรือต้นเดียวกัน ออกดอกเป็นช่อตามง่ามใบ 3-5 ดอก หรือตามปลายกิ่ง ดอกหนึ่งมีกลีบดอก 5-6 กลีบ ดอกมีสีขาวหรือขาวนวล ก้านดอกสั้น ผลมีรูปร่างกลม เกลี้ยง มีเนื้อหนา 1.2-2 ซม. ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อน ผลแก่มีสีเขียวอ่อนค่อนข้างใส มีเส้นริ้วๆ ตามยาว สังเกตได้ 6 เส้น เนื้อในผลมีสีเหลืองออกน้ำตาลเมื่อแก่ เนื้อผลรับประทานได้ มีรสฝาด เปรี้ยว ขม และอมหวาน เปลือกหุ้มเมล็ดแข็งมี 6 เส้น เมล็ดมี 6 เมล็ด
คุณค่าทางโภชนาการ: ผลมะขามป้อมมีวิตามินซีสูงมาก และมีวิตามินเอ แคลเซียม ฟอสฟอรัส กรดอินทรีย์ มีสารฝาดสมาน
สรรพคุณและการใช้ประโยชน์
ผลแก่จัด รับประทานเป็นผลไม้ ทำเป็นผลไม้กวน แช่อิ่ม และทำน้ำผลไม้
ใช้เป็นยา: เปลือกลำต้น ใช้เปลือกที่แห้ง แล้วบดให้เป็นผงละเอียด โรยแก้บาดแผลเลือดออก และแผลฟกช้ำ ใบ ใช้ใบสดมาต้มกินแก้บวมน้ำ นำมาตำพอกหรือทาบริเวณแผลผื่นคันมีน้ำหนอง น้ำเหลือง และผิวหนังอักเสบ ผล ใช้ผลสดเป็นยาบำรุง ทำให้สดชื่น แก้กระหายน้ำ แก้ไอ แก้หวัด ช่วยระบาย ขับปัสสาวะ แก้เลือดออกตามไรฟัน และคอแห้ง ผลแห้ง บดให้เป็นผงชงกินแก้โรคหนองใน แก้ตกเลือด ท้องเสีย โรคบิด แก้โรคดีซ่าน และโรคโลหิตจาง ราก ต้มกินแก้ร้อนใน แก้โรคเรื้อน แก้ความดันโลหิตสูง และแก้ท้องเสีย
น้ำมะขามป้อม
ส่วนผสม:
มะขามป้อมแก่จัด  1  ถ้วย
น้ำสะอาด  2  ถ้วย
น้ำเชื่อม  1/3  ถ้วย
เกลือป่น  1  ช้อนชา
น้ำแข็ง
วิธีทำ:
นำมะขามป้อมแก่จัดล้างน้ำให้สะอาด แกะเมล็ดออก ใส่เครื่องปั่น เติมน้ำ เติมน้ำเชื่อม เกลือป่น ปั่นให้ละเอียด ชิมรสตามใจชอบ จะได้น้ำผลไม้สีนวลๆ ขุ่น รสหวาน เปรี้ยว เค็ม และฝาดเล็กน้อย เวลาดื่มเติมน้ำแข็งบดละเอียด ดื่มแล้วชุ่มคอ ชื่นใจ

ข้อมูลอ้างอิง: หนังสือเคล็ดวิธี...กินอย่างไร? ไร้โรคภัย

No comments:

Post a Comment