Jul 8, 2011

Garlic

กระเทียม (Garlic) เป็นพืชสมุนไพรล้มลุก มีลำต้นใต้ดินเรียกว่าหัว ซึ่งประกอบด้วยกลีบย่อยหลายกลีบ ชนิดที่หัวมีกลีบเดียวเรียกว่ากระเทียมโทน กระเทียมเป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่ง โดยมักใส่ในอาหารหลายชนิด ทั้งอาหารไทย อาหารอินเดีย ในครัวไทยมีกระเทียมเป็นส่วนประกอบสำคัญประจำครัวมานาน ในปัจจุบันมีการศึกษาคุณสมบัติทางยาอันหลากหลายของกระเทียม จนถึงกับสกัดบรรจุเป็นแคปซูล จำหน่ายเป็นอาหารเสริมสุขภาพแล้ว
กระเทียมมีชื่อสามัญอื่นๆอีกคือ กระเทียมขาว (อุดรธานี) กระเทียมจีน (กลาง) เทียม (ใต้) ปะเซ้วา (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) หอมขาว (อุดรธานี) หอมเทียม (เหนือ) หัวเทียม (ใต้)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์: กระเทียมเป็นไม้ล้มลุก สูง 30-60 ซม. มีกลิ่นแรง มีหัวใต้ดินแบบ Tunic bulb ลักษณะกลมแป้น เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-4 ซม. มีแผ่นเยื่อสีขาวหรือสีม่วงอมชมพูหุ้มอยู่ 3-4 ชั้น ซึ่งลอกออกได้ แต่ละหัวมี 6-10 กลีบ กลีบเกิดจากตาซอกใบของใบอ่อน ลำต้นลดรูปลงไปมาก ใบเดี่ยวขึ้นมาจากดิน เรียงซ้อนสลับ แบนเป็นแถบแคบ มีปลายแหลมขอบเรียบ และพับทบเป็นสันตลอดความยาวของใบ ส่วนที่หุ้มหัวอยู่มีสีขาวหรือขาวอมเขียว ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ประกอบด้วยตะเกียงรูปไข่เล็กๆ จำนวนมากอยู่ปะปนกับดอกขนาดเล็กซึ่งมีจำนวนน้อย มีใบประดับใหญ่ 1 ใบ ยาว 7.5-10 ซม. ลักษณะบาง ใส แห้ง เมื่อช่อดอกบานใบประดับจะเปิดอ้าออกและห้อยลงรองรับช่อดอกไว้ เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีกลีบรวม 6 กลีบ แยกจากกันหรือติดกันที่โคน รูปใบหอกปลายแหลม ยาวประมาณ 4 มม. สีขาวหรือขาวอมชมพู ผลเล็กเป็นกระเปาะสั้นๆ รูปไข่หรือค่อนข้างกลม มี 3 พู เมล็ดเล็ก สีดำ
คุณค่าทางโภชนาการ: หัวและใบของกระเทียม มีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินซี, บี 1, บี 2 ไนอะซีน และยังมีเบต้าแคโรทีน ซีลีเนียม เจอร์เรเนียม อัลลิซีน
สรรพคุณและการใช้ประโยชน์
ใบ: ทำให้เสมหะแห้ง แก้ลม ปวดมวนท้อง
หัว: บำบัดอาการไอ แก้ไข้หวัด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง บำรุงปอด แก้ปอดพิการ ปอดบวม แก้วัณโรคปอด ช่วยย่อย แก้ท้องเสีย ขับลม ขับเหงื่อ ขับพิษและสารอันตรายที่ปนเปื้อนในเม็ดเลือด ช่วยลดระดับไขมันคอลเรสเตอรอลในเลือด ลดไตรกลีเซอไรด์ ช่วยลดปริมาณน้ำตาลในเลือด ช่วยลดความดันโลหิต แก้ความดันโลหิตสูง ลดการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก เพิ่มการไหลเวียนโลหิต ช่วยเพิ่มความจำ รักษาเลือดออกตามไรฟัน ขับพยาธิในท้อง แก้สะอึก
รับประทานหัวกระเทียมสดหรือดองน้ำผึ้ง เป็นประจำวันละ 5-10 กลีบ ช่วยป้องกันโรคหัวใจ ช่วยขจัดไขมันอุดตันในเส้นเลือด กระเทียมโทนดองน้ำผึ้งบำรุงกำลัง กระเทียมดองสุราลดความดันโลหิต
แก้ปากเหม็น ฆ่าเชื้อโรคในปาก คั้นน้ำกระเทียมผสมน้ำอุ่น ใส่เกลือเล็กน้อย อมบ้วนปาก
รักษากลากเกลื้อน คั้นเอาน้ำกระเทียมสดทาบริเวณที่เป็น วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น จนกว่าจะหาย
แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ รับประทานกระเทียมสด 5-7 กลีบ

ข้อมูลอ้างอิง: หนังสือเคล็ดวิธี...กินอย่างไร? ไร้โรคภัย

Pumpkin-Kabocha

ฟักทอง (Pumpkins (ทอง), Kabocha (เขียว)) เป็นพืชชนิดหนึ่ง มักจัดเป็นพวกผัก เนื่องจากนิยมนำมาเป็นส่วนประกอบในอาหาร แต่ก็ยังนำไปทำของหวานเป็นอาหารว่างได้ด้วย ปกติฟักทองเมื่อแก่จัดจะมีสีเหลืองอมส้ม เป็นพืชมีเถา ปลูกได้ทั่วไปทั้งในเขตร้อนและเขตหนาว ในทางพฤกษศาสตร์ จัดอยู่ในสกุล Cucurbita วงศ์ Cucurbitaceae ถือว่าเป็นพืชดั้งเดิมของโลกตะวันตก
ฟักทอง มีชื่อพื้นเมืองอื่นอีก เช่น มะฟักแก้ว ฟักเขียว มะฟักข้าวเหนียว (เหนือ) น้ำเต้า (ใต้) มะน้ำแก้ว (เลย) หมักคี้ส่า (กะเหรี่ยง - แม่ฮ่องสอน) หมักอื้อ (ปราจีนบุรี)
ในประเทศตะวันตก นิยมนำฟักทองมาเจาะเป็นช่อง มีจมูก ตา แล้วใส่เทียน หรือดวงไฟข้างในเพื่อฉลองในวันฮาโลวีน เรียกว่า แจคโอแลนเทิน (Jack-o'-lantern pumpkin)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์: ฟักทองเป็นไม้เถาเลื้อยไปตามดิน ลำต้นแข็งปานกลาง มีมือสำหรับยึดเกาะ 3-4 แขนง ลำต้นอวบน้ำ ใบเดี่ยวรูปห้าเหลี่ยม ขอบใบหยัก เว้าเป็นแฉกตื้นๆ ปลายใบมน มีขนทั้งสองด้าน ดอกเดี่ยวออกตามง่ามใบ ดอกตูมปลายแหลม ดอกตัวผู้และตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกมีสีเหลืองอมส้มรูปกระดิ่ง ผลฟักทองมีด้วยกันหลายลักษณะ บางครั้งเป็นผลเกือบกลมก็มี แต่โดยทั่วไปเป็นรูปทรงกลมแป้น ผิวขรุขระเล็กน้อย เมื่อยังดิบเนื้อค่อนข้างแข็ง เนื้อสีเหลืองหรือเหลืองอมเขียว หรือสีส้มเข้ม ตรงกลางฟูพรุน เมล็ดมีจำนวนมาก มีรูปร่างแบน นอกจากเนื้อของผลฟักทองจะใช้เป็นอาหารแล้ว เมล็ดฟักทองก็ใช้เป็นอาหารว่างได้ด้วย
คุณค่าทางโภชนาการ: เนื้อฟักทองมีวิตามินเอสูงมาก ส่วนที่กินได้ 100 กรัม มีวิตามินเอ 2,458 I.U. มีฟอสฟอรัส แคลเซียม วิตามินซี แป้ง เบต้าแคโรทีน โปรตีน และอื่นๆ ใบอ่อนมีวิตามินสูงเท่ากับในเนื้อ และมีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูงกว่าในเนื้อ ดอกมีวิตามินเอ แคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินซีเล็กน้อย เมล็ดมีน้ำมัน แป้ง ฟอสฟอรัส โปรตีน วิตามิน
สรรพคุณและการใช้ประโยชน์
ฟักทองมีกากใยสูง อุดมด้วยวิตามินเอและสารต่อต้านการผสมกับออกซิเจนกับเกลือแร่ และมี กรดโปรไพโอนิคกรดนี้ทำให้ทำให้เซลล์มะเร็งให้อ่อนแอลง ในเนื้อฟักทองมีแคโรทีนและแป้ง ยอดอ่อน ใช้แกงกับเห็ดไข่เหลือง เห็ดไข่ขาวหรือเห็ดโคน แกงแคร่วมกับผักชนิดต่างๆ หรือผัดกับไข่ ลูกอ่อนแกงกับหน่อไม้ยอดอ่อน, ผลอ่อน นึ่งรับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก ผลแก่ แกงบวด ผัดกับไข่ ทำขนมบวชชี ใช้แต่งสีขนมเช่น ขนมฟักทอง ลูกชุบ โดยนำเนื้อนึ่งสุกมายีกับแป้งหรือถั่วกวน
ใช้เป็นยา: เมล็ดขับพยาธิตัวตืด ขับปัสสาวะ และบำรุงร่างกาย ราก บำรุงร่างกาย แก้ไอ ถอนพิษของฝิ่น น้ำมันจากเมล็ด บำรุงประสาท เยื่อกลางผล แก้ฟกช้ำ แก้ปวดอักเสบ
น้ำฟักทอง
ส่วนผสม:
เนื้อฟักทองนึ่งสุก  1  ถ้วย
น้ำสะอาด  3  ถ้วย
น้ำตาลทราย  100  กรัม
เกลือป่น
วิธีทำ:
ปอกเปลือกฟักทอง นึ่งให้สุก ใส่เครื่องปั่น เติมน้ำ ปั่นให้ละเอียด เทใส่ภาชนะนำไปตั้งไฟ เติมน้ำตาลทราย เกลือป่น ชิมรสตามใจชอบ กรองด้วยผ้าขาวบาง เทใส่หม้อตั้งไฟพอเดือด ยกลง เทใส่ขวด จะได้น้ำฟักทองสีเหลือง มีรสหวานมัน

ข้อมูลอ้างอิง: หนังสือเคล็ดวิธี...กินอย่างไร? ไร้โรคภัย