Jun 27, 2011

Centella asiatica

บัวบก (Centella asiatica) เป็นพืชสมุนไพรที่อยู่ในแถบเอเชีย มีชื่อพื้นเมืองอื่นอีก เช่น ผักแว่น (ใต้, ตะวันออก - จันทบุรี) ผักหนอก (เหนือ) ปะหนะเอขาเด๊าะ (กะเหรี่ยง - แม่ฮ่องสอน) เตียกำเช้าฮักคัก (จีน)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์: เป็นไม้ล้มลุก ทอดเลี้อยไปตามดินที่แฉะ ขึ้นง่ายมีรากออกตามข้อ ชูใบตั้งตรงขึ้นมา ใบเป็นใบเดี่ยว มีก้านชูใบยาว ลักษณะใบเป็นรูปไต มีรอยเว้าลึกที่ฐานใบ ขอบใบมีรอยหยัก จะเป็นสามเหลี่ยม ดอกเป็นดอกช่อคล้ายร่ม ออกจากข้อมี 2-3 ข้อ ช่อละ 3-4 ดอก แต่ละดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ สีม่วงอมแดงโดยเรียงสลับกับเกสรตัวผู้ ผลเล็กมากมีสีดำ แช่น้ำไม่ตาย ทนน้ำขัง
คุณค่าทางโภชนาการ: บัวบกมีน้ำมันหอมระเหยทุกส่วน สารที่มีรสขม มีสารไกลโคไซด์ มีวิตามินเอสูงมาก มีแคลเซียม และสารอื่นๆ
สรรพคุณและการใช้ประโยชน์
ทั้งต้นกินเป็นผักสด หรือลวกกินกับขนมจีนน้ำพริก นำมาเป็นผักซึ่งเหมาะกินกับแกง นำมาทำยำ และทำน้ำใบบัวบก
ใช้เป็นยา: ทั้งต้นนำมาต้มน้ำดื่ม แก้ฟกช้ำได้ ลดการอักเสบได้ดี แก้ร้อนในกระหายน้ำ ใบบัวบกสามารถช่วยรักษาแผลให้หายได้เร็วขึ้นและยังช่วยลดอาการอักเสบของแผลได้ดี เพราะมีกรดมาเดคาสสิก กรดอะเซียติก และสารอะเซียติโคไซด์ ยืนยันได้เพราะยาแผนปัจจุบันทำเป็นรูปครีมผงโรยแผล ยาเม็ดรับประทาน เพื่อใช้รักษาแผลสดและแผลผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือแผลฝีหนองบัวบกจัดการได้หมด โดยใช้ใบและต้นสดตำละเอียดคั้นน้ำทานวันละ 3 - 4 ครั้ง หรืออาจใช้กากพอกบริเวณแผลด้วยก็ดี
น้ำใบบัวบก
ส่วนผสม:
ใบบัวบก  2  ถ้วย
น้ำสะอาด  2  ถ้วย
น้ำเชื่อม  ½  ถ้วย
น้ำแข็ง
วิธีทำ:
นำใบบัวบกที่สดๆใหม่ๆ ล้างน้ำให้สะอาด แช่ด่างทับทิม 15-20 นาที ใส่เครื่องปั่น เติมน้ำพอควร ปั่นให้ละเอียด กรองด้วยผ้าขาวบาง เติมน้ำเชื่อมพอหวาน ชิมรสดูตามใจชอบ จะได้น้ำใบบัวบกสีเขียวใสน่ารับประทาน เวลาดื่มเติมน้ำแข็งบดละเอียด รสหอมหวานชื่นใจ ดื่มแล้วแก้อาการกระหายน้ำ

ข้อมูลอ้างอิง: หนังสือเคล็ดวิธี...กินอย่างไร? ไร้โรคภัย

Aloe Vera

ว่านหางจระเข้ มีชื่ออื่น เช่น หางตะเข้ (กลาง) ว่านไฟไหม้ (เหนือ) นำเต๊ก (จีน) คำว่า "อะโล" (Aloe) เป็นภาษากรีซโบราณ หมายถึงว่านหางจระเข้ ซึ่งแผลงมาจากคำว่า "Allal" มีความหมายว่า ฝาดหรือขม ในภาษายิว ฉะนั้นเมื่อผู้คนได้ยินชื่อนี้ ก็จะทำให้นึกถึงว่านหางจระเข้ ว่านหางจระเข้เดิมเป็นพืชที่ขึ้นในเขตร้อน ต่อมาได้ถูกนำไปแพร่พันธุ์ในยุโรปและเอเชีย และทุกวันนี้ทั่วโลกกำลังเกิดกระแสนิยมว่านหางจระเข้กันเป็นการใหญ่
ว่านหางจระเข้ เป็นต้นพืชที่มีเนื้ออิ่มอวบ จัดอยู่ในตระกูลลิเลี่ยม (Lilium) แหล่งกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และบริเวณตอนใต้ของทวีปแอฟริกา พันธุ์ของว่านหางจระเข้มีมากมายกว่า 300 ชนิด ซึ่งมีทั้งพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่มาก จนไปถึงพันธุ์ที่มีขนาดเล็กกว่า 10 เซ็นติเมตร ลักษณะพิเศษของว่านหางจระเข้ก็คือ มีใบแหลมคล้ายกับเข็ม เนื้อหนา และเนื้อในมีน้ำเมือกเหนียว ว่านหางจระเข้ผลิดอกในช่วงฤดูหนาว ดอกจะมีสีต่างๆกัน เช่น เหลือง ขาว และแดง เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ของมัน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์: ว่านหางจระเข้เป็นพืชอวบน้ำอยู่ในจำพวกว่าน ลำต้นสั้นหรือไม่มีลำต้น สูง 60-100 ซม.(24-39 นิ้ว) กระจายพันธุ์โดยตะเกียง ใบมีลักษณะหนาและยาว ตรงโคนใบใหญ่ ส่วนปลายใบแหลม ใบมีสีเขียวถึงเทาเขียว บางสายพันธุ์มีจุดสีขาวบนและล่างของโคนใบ ขอบใบเป็นหยักและมีฟันเล็กๆสีขาว ภายในใบจะเป็นวุ้นใสสีเขียวอ่อน ดอกเป็นช่อชูตั้ง ออกดอกบริเวณกลางต้น และมีก้านช่อดอกยาวมาก ยาวได้ถึง 90 ซม.(35 นิ้ว) วงกลีบดอกสีเหลืองรูปหลอด ยาว 2-3 ซม. (0.8-1.2 นิ้ว) บานจากล่างไปข้างบน คล้ายดอกซ่อนกลิ่นตูมๆ นานๆจะได้เห็นดอกสักครั้งหนึ่ง
ว่านหางจระเข้ก็เหมือนพืชชนิดอื่นในสกุลที่สร้างอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซา (arbuscular mycorrhiza) ขึ้น ซึ่งเป็นสมชีพที่ทำให้พืชดูดซึมสารอาหารและแร่ธาตุในดินได้ดีขึ้น
คุณค่าทางโภชนาการ: วุ้นและน้ำเมือกในใบว่านหางจระเข้ มีสารเคมีอยู่หลายชนิด เช่น Aloe-cmidin, Aloesin, Aloin, สารประเภท Glycoprotein และอื่นๆ ยางสีเหลืองที่อยู่ในว่านหางจระเข้ มีสารแอนทราควินโนน (anthraquinone) ที่มีฤทธิ์ช่วยขับถ่ายด้วย ใช้ทำเป็นยาดำ
สรรพคุณและการใช้ประโยชน์
วุ้นจากใบ ทำลอยแก้ว วุ้นแช่อิ่ม และทำน้ำว่านหางจระเข้
ใช้เป็นยา: น้ำยางจากใบผสมกับสารส้ม ใช้กินรักษาโรคหนองใน มีการศึกษาวิจัยรายงานว่า วุ้นหรือน้ำเมือกจากใบของว่านหางจระเข้ใช้รักษาแผลไฟไหม้ การอักเสบของผิวหนัง รักษาแผลที่เกิดจากการไหม้ น้ำร้อนลวก แผลเรื้อรัง และแผลในกระเพาะอาหารได้ดี เพราะวุ้นใบมีสรรพคุณรักษาแผล ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย และช่วยสมานแผลได้ด้วย ยางในใบใช้ทำเป็นยาดำ, ยาระบาย และเป็นยาถ่ายจะออกฤทธิ์ที่ลำไส้ใหญ่ วุ้นยังใช้รักษาจุดด่างดำบนใบหน้า, ฝ้า ส่วนใบสดให้ฝานหนาๆ แล้วทาปูนแดงใช้ปิดขมับ รักษาอาการปวดศีรษะ ทำให้เย็น ดูดพิษ รากและเหง้านำไปต้มกิน รักษาโรคหนองใน
น้ำว่านหางจระเข้
ส่วนผสม:
ใบว่านหางจระเข้  2  ใบ
น้ำต้มสุก  1  ถ้วย
น้ำเชื่อม  1/3  ถ้วย
วิธีทำ:
เลือกใบว่านหางจระเข้ที่มีขนาดใหญ่ โตเต็มที่ ปอกเปลือกออก แล้วล้างน้ำให้สะอาดจนหมดยางสีเหลือง นำใส่เครื่องปั่น เติมน้ำต้มสุก ปั่นให้ละเอียด กรองด้วยผ้าขาวบาง เติมน้ำเชื่อมเล็กน้อย ใส่ขวดเก็บไว้ในตู้เย็น ควรเตรียมดื่มไม่เกิน 2 วัน

ข้อมูลอ้างอิง: หนังสือเคล็ดวิธี...กินอย่างไร? ไร้โรคภัย

Lotus

บัว เป็นพืชน้ำล้มลุก ลักษณะลำต้นมีทั้งที่เป็นเหง้า ไหล หรือหัว ใบเป็นใบเดี่ยวเจริญขึ้นจากลำต้น โดยมีก้านใบส่งขึ้นมาเจริญที่ใต้น้ำ ผิวน้ำหรือเหนือน้ำ รูปร่างของใบส่วนใหญ่กลมมีขนาดใหญ่ บางชนิดมีก้านใบบัว ผิวใบเรียบ มีสีนวลเคลือบตลอดหน้าใบ ขอบใบเรียบ มีสีเขียวตลอดทั้งใบ ก้านใบแข็ง
บัวเป็นราชินีแห่งไม้น้ำ จัดเป็นพันธุ์ไม้น้ำที่ถือเป็นสัญญลักษณ์ของคุณงามความดี บัวหลวงชอบขึ้นในน้ำจืด ออกดอกตลอดปี ชอบน้ำสะอาด อยู่ในน้ำลึกพอสมควร ถิ่นกำเนิดของบัวอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเริ่มบานตั้งแต่ตอนเช้า ก้านดอกยาวมีหนามเหมือนก้านใบ ชูดอกเหนือน้ำ และชูสูงกว่าใบเล็กน้อย กลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ ดอกมีสีขาวอมเขียว, สีเทาชมพู หรือสีชมพูอมม่วง ร่วงง่าย กลีบดอกจำนวนมากเรียงซ้อนกันหลายชั้น เกสรตัวผู้มีจำนวนหลายสี ภายในดอกมีรูปร่างคล้ายกรวย มีเมล็ดฝังอยู่ภายใน และจะเติบโตเป็นผล ที่เรียกกันว่าฝักบัว
บัวที่พบและนิยมปลูกในประเทศไทย มาจาก 3 สกุล คือ
  • บัวหลวง (Lotus) เป็นบัวในสกุล Nelumbo มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า ปทุมชาติ หรือบัวหลวง
  • บัวผัน, บัว(กิน)สาย (Waterlily) เป็นบัวในสกุล Nymphaea มีลำต้นใต้ดินเป็นหัว หรือเหง้า ใบและดอกเกิดจากตาหรือหน่อที่เจริญขึ้นมาที่ผิวน้ำด้วยก้านส่งใบและยอด
  • บัววิกตอเรีย (Victoria) เป็นบัวในสกุล Victoria มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า บัวกระด้ง จัดเป็นบัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
พ.ศ. 2551 ค้นพบสายพันธุ์บัวสายพันธุ์ใหม่ของโลกที่พิพิธภัณฑ์บัว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี ได้ตั้งชื่อว่า "ธัญกาฬ" และ "รินลอุบล"
คุณค่าทางโภชนาการ: รากบัวมีแคลเซียม วิตามินซี และอื่นๆ เกสรตัวผู้มีกลิ่นหอม เมล็ดบัวมีแคลเซียมสูง มีธาตุเหล็ก โปรตีน แป้ง วิตามินซี และสารอื่นๆ ดีบัวมีอัลคาลอยด์หลายชนิด
สรรพคุณและการใช้ประโยชน์
ยอดอ่อน ไหลบัว ต้มกะทิ เป็นผักจิ้มน้ำพริก ผัด หรือแกงส้ม
ใช้เป็นยา: เกสรปรุงเป็นยาหอม ทำให้ชื่นใจ และเป็นยาชูกำลัง รากมีรสหวาน และมีกลิ่นหอม ให้เด็กกินระงับอาการท้องร่วงหรือธาตุไม่ปกติ และเป็นอาหารได้ เหง้าและเมล็ดมีรสหวานมันเล็กน้อย เป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการร้อนใน แก้กระหายน้ำ รักษาดี ขับเสมหะ อาการพุพอง เมล็ดจะมี embryo มีสีเขียว เรียกว่าดีบัว ซึ่งมีรสขมจัด มีสารอัลคาลอยด์หลายชนิด มีฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อของหัวใจ
น้ำรากบัว
ส่วนผสม:
รากบัว  2  ถ้วย
น้ำสะอาด  3  ถ้วย
น้ำตาลทราย  1/3  ถ้วย
วิธีทำ:
นำรากบัวที่ล้างสะอาด ฝานเป็นชิ้นบางๆ นำไปต้มกับน้ำ แล้วคั่วจนกระทั่งได้น้ำเป็นสีชมพู กรองเอากากออก เติมน้ำตาลทราย ตั้งไฟให้เดือด ชิมรส ใส่ขวดนึ่ง 20 - 30 นาที พอเย็นเก็บใส่ตู้เย็น จะได้น้ำรากบัวสีชมพู รสหวานเย็น ดื่มแก้กระหายน้ำ

ข้อมูลอ้างอิง: หนังสือเคล็ดวิธี...กินอย่างไร? ไร้โรคภัย

Jun 23, 2011

Indian Gooseberry

มะขามป้อม (Indian Gooseberry) เป็นต้นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae เป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง และมีคุณค่าทางสมุนไพรด้วย มะขามป้อมเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสระแก้ว มีชื่อพื้นเมืองอื่นอีกคือ กันโตด (เขมร - กาญจนบุรี) กำทวด (ราชบุรี) มะขามป้อม (ทั่วไป) มั่งลู่, สันยาส่า (กะเหรี่ยง - แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์: เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก-กลาง สูง 8-12 เมตร ลำต้นมักคดงอ เปลือกนอกสีน้ำตาลอมเทา ผิวเรียบหรือค่อนข้างเรียบ เปลือกในสีชมพูสด ใบเดี่ยว มีลักษณะคล้ายใบประกอบ มีใบย่อยออกเรียงกันเป็น 2 แถว คล้ายใบมะขาม ปลายใบแหลมยาวรี รูปขอบขนานติดเรียงสลับ กว้าง 0.25-0.5 ซม.ยาว 0.8-12 ซม. มีสีเขียวอ่อนเรียงชิดกัน ใบสั้นมาก เส้นแขนงใบไม่ชัดเจน
ดอกขนาดเล็กแยกเพศ แต่อยู่บนกิ่งหรือต้นเดียวกัน ออกดอกเป็นช่อตามง่ามใบ 3-5 ดอก หรือตามปลายกิ่ง ดอกหนึ่งมีกลีบดอก 5-6 กลีบ ดอกมีสีขาวหรือขาวนวล ก้านดอกสั้น ผลมีรูปร่างกลม เกลี้ยง มีเนื้อหนา 1.2-2 ซม. ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อน ผลแก่มีสีเขียวอ่อนค่อนข้างใส มีเส้นริ้วๆ ตามยาว สังเกตได้ 6 เส้น เนื้อในผลมีสีเหลืองออกน้ำตาลเมื่อแก่ เนื้อผลรับประทานได้ มีรสฝาด เปรี้ยว ขม และอมหวาน เปลือกหุ้มเมล็ดแข็งมี 6 เส้น เมล็ดมี 6 เมล็ด
คุณค่าทางโภชนาการ: ผลมะขามป้อมมีวิตามินซีสูงมาก และมีวิตามินเอ แคลเซียม ฟอสฟอรัส กรดอินทรีย์ มีสารฝาดสมาน
สรรพคุณและการใช้ประโยชน์
ผลแก่จัด รับประทานเป็นผลไม้ ทำเป็นผลไม้กวน แช่อิ่ม และทำน้ำผลไม้
ใช้เป็นยา: เปลือกลำต้น ใช้เปลือกที่แห้ง แล้วบดให้เป็นผงละเอียด โรยแก้บาดแผลเลือดออก และแผลฟกช้ำ ใบ ใช้ใบสดมาต้มกินแก้บวมน้ำ นำมาตำพอกหรือทาบริเวณแผลผื่นคันมีน้ำหนอง น้ำเหลือง และผิวหนังอักเสบ ผล ใช้ผลสดเป็นยาบำรุง ทำให้สดชื่น แก้กระหายน้ำ แก้ไอ แก้หวัด ช่วยระบาย ขับปัสสาวะ แก้เลือดออกตามไรฟัน และคอแห้ง ผลแห้ง บดให้เป็นผงชงกินแก้โรคหนองใน แก้ตกเลือด ท้องเสีย โรคบิด แก้โรคดีซ่าน และโรคโลหิตจาง ราก ต้มกินแก้ร้อนใน แก้โรคเรื้อน แก้ความดันโลหิตสูง และแก้ท้องเสีย
น้ำมะขามป้อม
ส่วนผสม:
มะขามป้อมแก่จัด  1  ถ้วย
น้ำสะอาด  2  ถ้วย
น้ำเชื่อม  1/3  ถ้วย
เกลือป่น  1  ช้อนชา
น้ำแข็ง
วิธีทำ:
นำมะขามป้อมแก่จัดล้างน้ำให้สะอาด แกะเมล็ดออก ใส่เครื่องปั่น เติมน้ำ เติมน้ำเชื่อม เกลือป่น ปั่นให้ละเอียด ชิมรสตามใจชอบ จะได้น้ำผลไม้สีนวลๆ ขุ่น รสหวาน เปรี้ยว เค็ม และฝาดเล็กน้อย เวลาดื่มเติมน้ำแข็งบดละเอียด ดื่มแล้วชุ่มคอ ชื่นใจ

ข้อมูลอ้างอิง: หนังสือเคล็ดวิธี...กินอย่างไร? ไร้โรคภัย

Jun 22, 2011

Healthy Fruit - Tangerine

ส้มเขียวหวาน มีชื่ออื่นๆ เช่น ส้มแป้นขี้ม้า ส้มแป้นกระดาน ส้มแก้วโบราณ ส้มแสงทอง ส้มตรังกานู ส้มจันทบูร (กรุงเทพฯ) ส้มเชียงตุง มะจุก มะขาง มะขุน (เหนือ) มะบาง มะเขียว (เชียงใหม่) ลีมายือโบ ลีมาจีนา (มาเลย์ - ใต้)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์: ส้มเขียวหวาน (Tangerine: C. reticulata) เป็นไม้ผลยืนต้นขนาดเล็ก ต้นสูงประมาณ 2.5-3 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นทรงพุ่ม มีลักษณะแน่นทึบ ใบเป็นใบประกอบ ผิวใบมัน ใบสดมีกลิ่นหอมเฉพาะ ออกดอกเป็นช่อหรือดอกเดี่ยว กลีบดอกสีขาว ร่วงง่าย ดอกบานมีกลิ่นหอม ผลมีรูปร่างกลมแบนเล็กน้อย เมื่อยังอ่อนมีสีเขียวผิวมัน ผิวผลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อแก่สุก
เริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 3 ปี และให้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 15 ปี ถ้ามีการดูแลรักษาอย่างดี ตั้งแต่เริ่มออกดอกจนถึงดอกบานใช้เวลาประมาณ 20-25 วัน นับจากดอกบานจนถึงผลแก่ใช่เวลาประมาณ 8 เดือน ต้นส้มเขียวหวานที่มีอายุ 10 ปี ให้ผลผลิตประมาณ 150-180 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี น้ำหนักเฉลี่ยของผลประมาณ 8 ผลต่อ 1 กิโลกรัม
คุณค่าทางโภชนาการ: เนื้อส้ม มีวิตามินซี เอ บี มีธาตุแคลเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส มีกรดอินทรีย์หลายชนิด และอื่นๆ ส้มเขียวหวานมีวิตามินเอสูงมาก 4,000 I.U. ในส่วนที่กินได้ 100 กรัม ผิวส้มมีน้ำมันหอมระเหย วิตามินซี และสารอื่นๆ
สรรพคุณและการใช้ประโยชน์
ผลสุกรับประทานเป็นผลไม้ เชื่อม ทำน้ำผลไม้
ใช้เป็นยา: ผิวผลใช้สกัดทำทิงเจอร์ สำหรับใช้แต่งกลิ่นยา และมีฤทธิ์ขับลม เปลือกผลปรุงยาหอม แก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย แก้ลมจุกเสียดแน่นเฟ้อ น้ำจากผลให้วิตามินซี รับประทานป้องกันและรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน บำรุงร่างกาย แก้ไอและขับเสมหะ
น้ำส้มคั้น
ส่วนผสม:
น้ำส้มคั้น  ¾  ถ้วย
น้ำมะนาว  2  ช้อนโต๊ะ
น้ำเชื่อม  3  ช้อนโต๊ะ
เกลือป่น  ¼  ช้อนชา
น้ำแข็งบด  1 ½  ถ้วย
วิธีทำ:
เลือกส้มที่มีรสหวานอมเปรี้ยว ล้างให้สะอาด ผ่า 2 ซีก บีบน้ำส้ม แล้วเติมน้ำเชื่อม เกลือป่น น้ำมะนาว ชิมดูรสตามใจชอบ จะได้น้ำส้มสีเหลืองเข้มข้น รสชาติหวานเปรี้ยวเค็ม กลมกล่อม เทใส่แก้วเติมน้ำแข็ง เสิร์ฟได้ทันที


ข้อมูลอ้างอิง: หนังสือเคล็ดวิธี...กินอย่างไร? ไร้โรคภัย

Jun 17, 2011

Healthy Fruit - Banana

 กล้วยน้ำว้า คุณค่าคับผล จะสุกจะดิบ ก็อร่อยได้สารพัด ในบรรดาความหลากหลายของสารพันธุ์กล้วยที่มีอยู่ในเมืองเรา ไม่ว่าจะเป็นกล้วยหอมทอง กล้วยหอมเขียว กล้วยไข่ กล้วยหักมุก กล้วยเล็บมือนาง กล้วยนาก และกล้วยน้ำไท คงไม่มีกล้วยชนิดไหนที่คนไทยเราจะนิยมบริโภคมากเป็นอันดับหนึ่ง เท่ากับกล้วยน้ำว้า ซึ่งทิ้งห่างอันดับสองแบบไม่เห็นฝุ่น เพราะนอกจากกล้วยน้ำว้าจะมีราคาไม่แพงเหมือนกับกล้วยหอมแล้ว ยังหาซื้อได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก ไปเดินตลาดที่ไหนก็มีขายกันทั่ว

กล้วยน้ำว้า (ชื่อวิทยาศาสตร์: Musa sapientum Linn.) เป็นกล้วยพันธุ์หนึ่ง พัฒนามาจากลูกผสมระหว่างกล้วยป่า กับกล้วยตานี เป็นพืชที่ขึ้นทั่วไปในเขตร้อน ขยายพันธุ์โดยแตกหน่อ บริโภคกันอย่างแพร่หลาย ปลูกง่าย รสชาติดี อร่อยด้วย กล้วยน้ำว้ามีชื่อพื้นเมืองอื่นเช่น กล้วยน้ำว้าเหลือง กล้วยใต้ หรือ กล้วยอ่อง
หัวปลี ซึ่งเป็นดอกของต้นกล้วย ก็สามารถกินได้ทั้งแบบดิบและสุก รสชาติจะฝาด นำกลีบมาชุบแป้งทอดกินได้ หรือจะใช้ใส่ในแกงเลียง ต้มยำไก่ กินแกล้มกับขนมจีนน้ำพริก ทำทอดมัน และอีกสารพัดเมนูของอร่อย ซึ่งหาทานได้ง่ายมาก มีมากมายตามสวนไร่นา
กล้วยน้ำว้านั้นยังเป็นยอดของผลไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งแทบจะหาที่ติไม่ได้เลย นอกจากจะซื้อง่ายขายถูกแล้ว ยังมีรสหวานพอเหมาะพอดี กินง่าย แปรรูปได้สารพัด นำมาทำขนมต่างๆ และยังใช้ประโยชน์อื่นๆ หลายอย่างจากลำต้นและใบ ผลมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ไม่ว่าจะทำดิบ ทำสุก หยวกก็กินดี หัวปลีก็กินอร่อย แถมพ่วงติดมาด้วยความเป็นสมุนไพรที่ใช้ประโยชน์ได้อีกตั้งมากมาย พูดได้เต็มปากเต็มคำว่า คุณค่าคับผล จริงๆ
คุณค่าทางโภชนาการ: กล้วยน้ำว้าเมื่อเทียบกับกล้วยหอมและกล้วยไข่ กล้วยน้ำว้าจะให้พลังงานมากที่สุด ในส่วนของผลไม่ว่าจะกินแบบสุกหรือดิบอย่างไร ก็ให้พลังงาน (แคลอรี่) คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน (ต่ำ) วิตามินบี 1, บี 2 และไนอาซิน ในปริมาณที่เท่ากัน กล้วยน้ำว้าห่ามและสุกมีธาตุเหล็กในปริมาณสูง ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินซี ช่วยบำรุงกระดูก ฟัน และเหงือกให้แข็งแรง ช่วยให้ผิวพรรณดี อีกทั้งยังมีเบต้าแคโรทีน ไนอาซีนและใยอาหาร ช่วยให้ระบบขับถ่ายคล่องขึ้น กินกล้วยน้ำว้าสุกจะช่วยระบายท้อง และสามารถรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันในเด็กเล็กได้ ช่วยลดอาการเจ็บคอ เจ็บหน้าอกที่มีอาการไอแห้งร่วมด้วย โดยกินวันละ 4-6 ลูก แบ่งกินกี่ครั้งก็ได้ กินกล้วยก่อนแปรงฟันทุกวันจะทำให้ไม่มีกลิ่นปาก และผิวพรรณดี เห็นผลได้ใน 1 สัปดาห์
กล้วยน้ำว้าดิบและห่ามมีสารแทนนิน เพคติน มีฤทธิ์ฝาดสมาน รักษาอาการท้องเสียที่ไม่รุนแรงได้ โดยกินครั้งละครึ่งผล หรือ 1 ผล อาการท้องเสียจะทุเลาลง นอกจากนี้จากการศึกษาวิจัยยังพบว่า มีผลในการรักษาโรคกระเพาะได้อีกด้วย ใครที่ชอบกินปลีกล้วยก็ยิ่งดี เพราะมากด้วยแคลเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส และวิตามินซี แถมยังมีเบต้าแคโรทีนติดมาในปริมาณมากด้วย ส่วนหยวกที่กินอร่อยนั้นก็โดดเด่นตรงที่ให้วิตามินบี 2 สูงสุด
สรรพคุณและการใช้ประโยชน์
กล้วยเป็นอาหารบำรุงกระเพาะและลำไส้ เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยระบายกากอาหารที่หมักหมม สาเหตุที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะและลำไส้
ผลดิบ: ป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร รักษาท้องเสียเรื้อรัง อาหารไม่ย่อย โดยหั่นทั้งเปลือกเป็นแว่นตากแห้งแล้วบดเป็นผง ปั้นเป็นเม็ดหรือใช้ชงน้ำร้อนดื่ม ใช้ครั้งละประมาณเท่ากับกล้วยครึ่งถึงหนึ่งผล หรือนำผงมาใช้โรยรักษาแผลเน่าเปื่อย แผลติดเชื้อ แผลเรื้อรัง
ผลสุก: ช่วยการขับถ่าย มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียและเชื้อรา แก้ท้องผูก บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
เปลือกผลดิบ: ใช้สมานแผล
หัวปลี: บรรเทาอาการโรคกระเพาะอาหาร โรคลำไส้ ใบหัวปลีมีธาตุเหล็ก บำรุงเลือด ป้องกันโลหิตจาง ลดน้ำตาลในเลือด แก้ร้อนใน กระหายน้ำ คั้นน้ำใช้บำรุงโลหิต แก้ถ่ายเป็นมูกเลือด
ยาง: ใช้สมานแผล ห้ามเลือด
ใบ: ต้มแล้วนำมาอาบแก้เม็ดผดผื่นคัน หรือนำไปปิ้งเพื่อปิดแผลไฟไหม้
ราก: ต้มดื่มแก้ไข้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ไข้ท้องเสีย แก้บิด แก้ผื่นคัน
กาบต้น, ลำต้น: ใช้ทำเชือก ทำแพ เลี้ยงหมู ฯลฯ

ข้อมูลอ้างอิง: หนังสือเคล็ดวิธี...กินอย่างไร? ไร้โรคภัย