Jun 27, 2011

Aloe Vera

ว่านหางจระเข้ มีชื่ออื่น เช่น หางตะเข้ (กลาง) ว่านไฟไหม้ (เหนือ) นำเต๊ก (จีน) คำว่า "อะโล" (Aloe) เป็นภาษากรีซโบราณ หมายถึงว่านหางจระเข้ ซึ่งแผลงมาจากคำว่า "Allal" มีความหมายว่า ฝาดหรือขม ในภาษายิว ฉะนั้นเมื่อผู้คนได้ยินชื่อนี้ ก็จะทำให้นึกถึงว่านหางจระเข้ ว่านหางจระเข้เดิมเป็นพืชที่ขึ้นในเขตร้อน ต่อมาได้ถูกนำไปแพร่พันธุ์ในยุโรปและเอเชีย และทุกวันนี้ทั่วโลกกำลังเกิดกระแสนิยมว่านหางจระเข้กันเป็นการใหญ่
ว่านหางจระเข้ เป็นต้นพืชที่มีเนื้ออิ่มอวบ จัดอยู่ในตระกูลลิเลี่ยม (Lilium) แหล่งกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และบริเวณตอนใต้ของทวีปแอฟริกา พันธุ์ของว่านหางจระเข้มีมากมายกว่า 300 ชนิด ซึ่งมีทั้งพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่มาก จนไปถึงพันธุ์ที่มีขนาดเล็กกว่า 10 เซ็นติเมตร ลักษณะพิเศษของว่านหางจระเข้ก็คือ มีใบแหลมคล้ายกับเข็ม เนื้อหนา และเนื้อในมีน้ำเมือกเหนียว ว่านหางจระเข้ผลิดอกในช่วงฤดูหนาว ดอกจะมีสีต่างๆกัน เช่น เหลือง ขาว และแดง เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ของมัน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์: ว่านหางจระเข้เป็นพืชอวบน้ำอยู่ในจำพวกว่าน ลำต้นสั้นหรือไม่มีลำต้น สูง 60-100 ซม.(24-39 นิ้ว) กระจายพันธุ์โดยตะเกียง ใบมีลักษณะหนาและยาว ตรงโคนใบใหญ่ ส่วนปลายใบแหลม ใบมีสีเขียวถึงเทาเขียว บางสายพันธุ์มีจุดสีขาวบนและล่างของโคนใบ ขอบใบเป็นหยักและมีฟันเล็กๆสีขาว ภายในใบจะเป็นวุ้นใสสีเขียวอ่อน ดอกเป็นช่อชูตั้ง ออกดอกบริเวณกลางต้น และมีก้านช่อดอกยาวมาก ยาวได้ถึง 90 ซม.(35 นิ้ว) วงกลีบดอกสีเหลืองรูปหลอด ยาว 2-3 ซม. (0.8-1.2 นิ้ว) บานจากล่างไปข้างบน คล้ายดอกซ่อนกลิ่นตูมๆ นานๆจะได้เห็นดอกสักครั้งหนึ่ง
ว่านหางจระเข้ก็เหมือนพืชชนิดอื่นในสกุลที่สร้างอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซา (arbuscular mycorrhiza) ขึ้น ซึ่งเป็นสมชีพที่ทำให้พืชดูดซึมสารอาหารและแร่ธาตุในดินได้ดีขึ้น
คุณค่าทางโภชนาการ: วุ้นและน้ำเมือกในใบว่านหางจระเข้ มีสารเคมีอยู่หลายชนิด เช่น Aloe-cmidin, Aloesin, Aloin, สารประเภท Glycoprotein และอื่นๆ ยางสีเหลืองที่อยู่ในว่านหางจระเข้ มีสารแอนทราควินโนน (anthraquinone) ที่มีฤทธิ์ช่วยขับถ่ายด้วย ใช้ทำเป็นยาดำ
สรรพคุณและการใช้ประโยชน์
วุ้นจากใบ ทำลอยแก้ว วุ้นแช่อิ่ม และทำน้ำว่านหางจระเข้
ใช้เป็นยา: น้ำยางจากใบผสมกับสารส้ม ใช้กินรักษาโรคหนองใน มีการศึกษาวิจัยรายงานว่า วุ้นหรือน้ำเมือกจากใบของว่านหางจระเข้ใช้รักษาแผลไฟไหม้ การอักเสบของผิวหนัง รักษาแผลที่เกิดจากการไหม้ น้ำร้อนลวก แผลเรื้อรัง และแผลในกระเพาะอาหารได้ดี เพราะวุ้นใบมีสรรพคุณรักษาแผล ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย และช่วยสมานแผลได้ด้วย ยางในใบใช้ทำเป็นยาดำ, ยาระบาย และเป็นยาถ่ายจะออกฤทธิ์ที่ลำไส้ใหญ่ วุ้นยังใช้รักษาจุดด่างดำบนใบหน้า, ฝ้า ส่วนใบสดให้ฝานหนาๆ แล้วทาปูนแดงใช้ปิดขมับ รักษาอาการปวดศีรษะ ทำให้เย็น ดูดพิษ รากและเหง้านำไปต้มกิน รักษาโรคหนองใน
น้ำว่านหางจระเข้
ส่วนผสม:
ใบว่านหางจระเข้  2  ใบ
น้ำต้มสุก  1  ถ้วย
น้ำเชื่อม  1/3  ถ้วย
วิธีทำ:
เลือกใบว่านหางจระเข้ที่มีขนาดใหญ่ โตเต็มที่ ปอกเปลือกออก แล้วล้างน้ำให้สะอาดจนหมดยางสีเหลือง นำใส่เครื่องปั่น เติมน้ำต้มสุก ปั่นให้ละเอียด กรองด้วยผ้าขาวบาง เติมน้ำเชื่อมเล็กน้อย ใส่ขวดเก็บไว้ในตู้เย็น ควรเตรียมดื่มไม่เกิน 2 วัน

ข้อมูลอ้างอิง: หนังสือเคล็ดวิธี...กินอย่างไร? ไร้โรคภัย

No comments:

Post a Comment